4789 จำนวนผู้เข้าชม |
รู้จักควบคุมตัวเอง
เรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กอีกเรื่องหนึ่งคือ ภารกิจที่จะต้องพยายามควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองให้ได้เมื่อลูกอายุได้ ๒-๓ ขวบขึ้นไป คนรอบข้างจะเริ่มคาดหวังว่าลูกจะต้องลดการ งอแง เอาแต่ใจตัวเองและต้องรู้จักนึกคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้นดังนั้นถ้าหากว่าลูกควบคุมตัวเองได้น้อย ความน่ารักน่าเข้าใกล้ก็จะน้อยลง สัมพันธภาพระหว่างตัวเขากับผู้ใหญ่และเด็กคนอื่น ๆ ก็จะลดน้อยตามไปด้วย
คุณควรระลึกไว้เสมอว่าในอนาคตลูกจะต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขาด้วยตัวเองไม่ใช่คุณ นั่นหมายความว่าคุณไม่ควรคอยว่ากล่าวหรือตำหนิลูกทุกครั้งที่เขาทำตัวไม่เหมาะสม เพราะนั่นเท่ากับคุณกำลังช่วยลูกแบกความรับผิดชอบพฤติกรรมที่ลูกเป็นคนก่อ ซึ่งความจริงของรับผิดชอบด้วยตัวเอง และต้องเรียนรู้ที่จะหาทางพัฒนาการควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ใช่พึ่งการตักเตือนจากคุณตลอดเวลา
สอนเรื่องความตระหนักรู้
คุณควรพูดคุยกับลูกให้รู้จักตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่น คอยเตือนให้ลูกรู้ว่าการกระทำของเขาสามารถส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร ลูกจะมีแรงจูงใจในการควบคุมตัวเองมากขึ้น ถ้าลูกรู้ว่าการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองนั้นจะส่งผลเสียต่อคนที่เรารักอย่างไรบ้างและส่งผลต่อมิตรภาพระหว่างเขากับเพื่อน ๆ อย่างไร
สอนให้รู้จักคิดก่อน
การสอนให้รู้จักคิดใคร่ครองก่อนที่จะแสดงพฤติกรรมอะไรออกไปนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กที่ใจร้อนและถูกกระตุ้นง่ายเพราะธรรมชาติของเด็กแบบนี้มักจะตอบสนองทันทีเมื่อถูกกระตุ้น คุณควรให้ลูกรู้จักชะลองเองไว้สัก ๒-๕ วินาทีก่อนที่จะแสดงอารมณ์ คำพูด หรือการกระทำออกไป
สังเกตและใส่ใจความก้าวหน้าของลูก
คุณควรเฝ้าสังเกตความก้าวหน้าในการควบคุมตัวเองของลูก แทนที่จะกดดันหรือมุ่งจับผิด ยกตัวอย่างเช่น ควรพูดชมเชยลูกทันทีเมื่อคุณเห็นว่า เขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี แม้จะถูกพี่แหย่ หรือถูกเพื่อนล้อ
เมื่อ...ลูกทำ “พลาด”
ถึงคุณจะพยายามสอนลูกให้รู้จักควบคุมตัวเองเพียงใดก็ตาม แต่แน่นอนว่าลูกย่อมจะทำไม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเพราะลูกก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถผิดพลาดพลั้งเผลอได้เหมือนคนทั่วไป ทางที่ดีคุณไม่ควรเคร่งเครียดจริงจังจนเกินไป และตัวคุณเองก็ควรรพยายามควบคุมอารมณ์ไม่ให้มีปฏิกิริยาต่อความผิดของลูกจนเกินกว่าเหตุ อันที่จริงเมื่อลูกไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เขาเอก็รู้สึกแย่และผิดหวังในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือการช่วยลูกจัดการกับสถานการณ์ที่เขาควบคุมไม่ได้โดยทันที และอย่ารื้อฟื้นนำกลับมาบ่นลูกอีก เมื่อลูกค่อยๆ โตขึ้น เขาก็จะค่อยๆ ควบคุมตัวเองได้มากขึ้นตามวัย
เคารพกฎของบ้าน
เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่คุณจะคาดหวังว่าลูกจะเคารพกฎระเบียบของครอบครัว เมื่อไรก็ตามที่ลูกมีพฤติกรรมท้าทายต่อมาตรฐานของครอบครัว คุณจะต้องยึดหลักการและยืนยันกฎที่ตั้งไว้ อย่าได้ยอมแพ้เพียงเพื่อเห็นแก่ความเงียบสงบ ในช่วงเวลานั้น แม้การปล่อยให้ลูกทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ จะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามาก แต่ในระยะยาว การปล่อยปละละเลยนี้จะย้อนกลับมาเป็นระเบิดทำร้ายคุณในภายหลัง
คุณควรจะตั้งกฎระเบียบในบ้านให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้และแสดงให้ลูกเห็นตรงๆ ว่าคุณไม่พอใจอย่างยิ่งถ้าลูกไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ อธิบายกฎแต่ละข้อ บอกลูกให้รู้ว่าจะมีผลเสียอะไรบ้างถ้าลูกไม่ปฏิบัติตาม และชี้ให้ลูกเห็นประโยชน์ที่จะได้รับด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎข้อที่ว่า
“จะไม่ทำร้ายร่างกายกันอย่างเด็ดขาด” หมายความว่าเด็กทุกคนในบ้านนี้จะปลอดภัยจากการทำร้ายร่างกายทุกรูปแบบทั้งการตบตีและเตะต่อยกันในหมู่พี่น้อง รวมทั้งจากผู้ใหญ่ด้วย ลูกจะยอมรับและเคารพกฎในบ้านมากขึ้น ถ้ารู้ว่ากฎนั้นมีประโยชน์ต่อตัวเขาจริงๆ
๕ ข้อแนะนำ
๑. แสดงความเข้าใจและเห็นใจลูก บางครั้งเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปได้เหมือนกัน เช่น เมื่อผลคะแนนที่โรงเรียนออกมาไม่ดีหรือเพื่อนไม่ชวนไปงานสังสรรค์ ลูกอาจจะรู้สึกหวั่นไหวและอารมณ์ไม่มั่นคงในช่วงเวลานั้น ซึ่งทำให้ความสามารถในการควบคุมคุมตัวเองลดน้อยลง คุณจึงควรเข้าใจและแสดงความเห็นใจลูกในสถานการณ์แบบนี้
๒. สอนกลยุทธ์ถ่วงเวลา คุณสามารถสอนให้ลูกเรียนรู้การควบคุมตัวเอง โดยแนะนำให้ลูกควบคุมตัวเอง โดยแนะนำให้ลูกหัดนับ ๑ ถึง ๑๐ ก่อนที่จะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอะไรออกไป วิธีการถ่วงเวลาแบบนี้จะทำให้ลูกมีเวลาสำหรับการคิดไตร่ตรองมากขึ้นก่อนแสดงการโต้ตอบ
๓. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี คุณไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่าลูกจะควบคุมพฤติกรรมและอรมณ์ของตัวเองได้อย่างมีเหตุผล ถ้าหากลูกยังเห็นคุณระเบิดอารมณ์บ่อยๆ และเห็นว่าแม้แต่แม่เองก็ยังควบคุมตัวเองไม่ได้เลย
๔. ชี้ผลกระทบทางบวก อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงผลลัพธ์ทางบวกที่ลูกจะได้รับ ถ้าลูกสามารถควบคุมตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น เตือนลูกให้รู้ว่าเพื่อนๆ จะรู้สึกสนุกและอยากเล่นกับลูกมากขึ้น ถ้าเพื่อนๆ สามารถคาดเดาได้ว่าลูกจะไม่เอาแต่ใจตัวเองบ่อยๆ และจะไม่อารมณ์เสียง่ายๆ
๕. กระตุ้นให้ลูกหาทางแก้ปัญหา เมื่อลูกทำตัวไม่เหมาะสมและลูกเองกรู้สึกแย่ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ซ้ำๆ เพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณควรช่วยด้วยการกระตุ้นให้ลูกลองหัดคิดหาทางแก้ปัญหาและวิธีหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ ลูกอาจจะสามารถคิดหาวิธีจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง