ชื่อ
ข้อ 1. มูลนิธินี้ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิเด็ก” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Foundation for Children
วัตถุประสงค์
ข้อ 2. มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสนับสนุนสิทธิของเด็กตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก องค์การสหประชาชาติ
2. เพื่อช่วยเหลือเด็ก ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากและถูกทอดทิ้ง ให้มีโอกาสพัฒนาอย่างสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยยึดหลักการให้ความช่วยเหลือ จากเหตุแห่งความยุติธรรมมิใช่จากความสมเพช เวทนา
3. เพื่อจัดหารูปแบบอื่นของการศึกษาและดูแลเด็ก โดยพิจารณาว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม
4. เพื่อเป็นสื่อประสานความเข้าใจอันดีระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
5. เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือร่วมมือกับคณะบุคคล หรือบุคคล หรือกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นของส่วนบุคคล หรือคณะบุคคล ที่มีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการศึกษา
6. เพื่อให้ความช่วยเหลือในทุกทาง แก่บุคคล หรือสถานศึกษา โดยให้ทุนการศึกษา อุปกรณ์ ทรัพย์สินใด ๆ หรือด้วยประการใด อันจะก่อประโยชน์แก่บุคคลหรือสถานศึกษานั้น
7. เพื่อส่งเสริมศิลปวิทยาการ วัฒนธรรมและการสังคมสงเคราะห์
8. เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
9. เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและพัฒนาสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์รวมทั้งเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา
ที่ตั้งสำนักงาน
ข้อ 3. สำนักงานตั้งอยู่ที่ 460 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 67 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
ทุนทรัพย์และทรัพย์สิน
ข้อ 4. มูลนิธินี้มีทรัพย์สินในขั้นต้น เป็นเงิน 100,000.00 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) เงินจำนวนนี้ได้จากการบริจาค
ข้อ 5. มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้
1. เงินหรือทรัพย์สินบริจาค โดยผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
2. เงินทรัพย์สินได้รับตามพินัยกรรมหรือนิติกรรมใดๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินแต่ประการใด
3. ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
4. มูลนิธิอาจบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อให้ได้มาซึ่งดอกผล สำหรับดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ทั้งนี้ให้รวมถึงการจดทะเบียนนิติกรรม หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับการให้เช่า การซื้อหรือการจำหน่ายทรัพย์สิน ซึ่งมิใช่เป็นการลงทุนทางการค้าหรือการประกอบธุรกิจ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
การบริหารงาน
ข้อ 6. ให้มีคณะกรรมการเป็นผู้จัดการและบริหารงานทั้งปวงของมูลนิธิ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลกระทำกิจการทั้งปวงแทนได้ การแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว คณะกรรมการจะต้องระบุไว้โดยชัดแจ้งในรายงานการประชุมถึงหน้าที่ขอบเขตแห่งอำนาจ ส่วนระยะเวลาที่มอบหมายให้กระทำกิจการหรือบำเหน็จจะกำหนดไว้หรือไม่ก็ได้
ข้อ 7. คณะกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน อย่างมากไม่เกิน 20 คน ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการคนอื่นๆ เป็นรองประธาน เหรัญญิก ผู้จัดการ เลขานุการ และตำแหน่งอื่นใดอีกตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ข้อ 8. คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาและอนุกรรมการต่าง ๆ จะอยู่ในตำแหน่งนั้นให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนด
ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบข้อบังคับมูลนิธิได้ เพื่อให้กิจการของมูลนิธิดำเนินไปด้วยดี
องค์ประชุมและมติของคณะกรรมการ
ข้อ 9. องค์ประกอบของคณะกรรมการ ต้องประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน แต่การประชุมเพื่อเลือกกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
ข้อ 10. การประชุมกรรมการนั้น ให้ประธานกรรมการหรือคณะกรรมการร่วมกัน 3 คน มีอำนาจเรียกประชุมได้ โดยแจ้งให้กรรมการอื่นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
การส่งคำบอกกล่าวแจ้งประชุมกรรมการนี้ หากส่งทางไปรษณีย์จะต้องแจ้งให้ทราบ 10 วัน นับแต่วันส่ง
ข้อ 11. มติของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
มติของกรรมการจะต้องถือเสียงสามในสี่ คือ
ก. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิ
ข. การเลิกมูลนิธิ
ค. การถอดกรรมการ
ง. การวางระเบียบข้อบังคับมูลนิธิ
ข้อ 12. กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ต้องเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย
2. ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
3. ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาศาล เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดทางการเมือง
ข้อ 13. ใน 2 ปีแรกนับแต่วันจดทะเบียนมูลนิธิ ให้กรรมการจับสลากออกจากตำแหน่งหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการ ผู้ที่ออกจากตำแหน่งนี้อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ และให้ใช้วิธีการดังกล่าวแล้วต่อไปทุก 2 ปี การแต่งตั้งกรรมการให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ การแต่งตั้งกรรมการใหม่ไม่ว่าเหตุใด จะต้องกระทำภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่กรรมการเก่าสิ้นสภาพ เมื่อใดที่กรรมการขาดลง ไม่ว่าด้วยเหตุใดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการตามที่กำหนดไว้ตามที่ข้อบังคับข้อ 7 ห้ามมิให้กระทำกิจการใด เว้นแต่การงานประจำที่จะต้องปฏิบัติหรือกิจการที่จะต้องทำเป็นกรณีรีบด่วน ซึ่งหากละเว้นไม่ทำแล้วมูลนิธิจะได้รับความเสียหายหรือการแต่งตั้งกรรมการ
ข้อ 14. สภาพของกรรมการสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังนี้
1. ตายหรือลาออก
2. ออกตามวาระตามข้อบังคับข้อ 13
3. ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ 12
4. คณะกรรมการถอดถอนออกตามข้อบังคับ ข้อ 11 ค
การประชุมสามัญประจำปี
ข้อ 15. ให้มีการประชุมคณะกรรมการประจำปีทุกปี ภายใน 90 วัน นับแต่วันต้นปฏิทิน ในการประชุมนั้นให้พิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้
ก. รายงานของผู้จัดการมูลนิธิเกี่ยวกับรอบปีที่ผ่านมา
ข. รายงานของเหรัญญิกเกี่ยวกับรอบปีที่ผ่านมา
ค. การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี เพื่อสอบบัญชีของมูลนิธิ
ง. เรื่องอื่น ๆ
การประชุมพิเศษ
ข้อ 16. ประธานกรรมการหรือผู้กระทำการแทน อาจจะเรียกประชุมพิเศษได้เมื่อมีความจำเป็น หากประธานกรรมการหรือผู้กระทำการแทนไม่อยู่ ให้เลขานุการหรือเหรัญญิกกับกรรมการอีกนายหนึ่งมีสิทธิเรียกประชุมพิเศษคณะกรรมการได้เมื่อมีเหตุสมควรและรีบด่วน
ข้อ 17. ถ้ามูลนิธิมีเงินสด ให้นำเข้าฝากที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งหรือสถาบันการเงิน สุดแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร และให้ประธานกรรมการหรือผู้รักษาการแทนหรือผู้จัดการและเหรัญญิกเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในเช็ค หรือตั๋วสั่งจ่ายเงินโดยลงนามด้วยกัน คณะกรรมการอาจฝากเงินสดซึ่งเป็นของมูลนิธิไว้ในบัญชีที่เปิดเพิ่ม ณ ธนาคารใดอีกก็ได้ และอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเหรัญญิกให้มีอำนาจเซ็นเช็ค ตั๋วแลกเงินหรือตราสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีนั้นในนามคณะกรรมการ โดยมีข้อกำหนดว่าเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงินใด ๆ ต้องเซ็นโดยผู้ช่วยเหรัญญิก 2 คน เป็นอย่างน้อย และในตราสารที่เห็นลายลักษณ์อักษรที่จะจ่ายแต่ละครั้ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากประธาน หรือเหรัญญิกหรือผู้จัดการหรือเลขานุการในนามคณะกรรมการการจ่ายเงินของมูลนิธิทุกครั้งที่จ่ายเกิน 1,000.00 บาท จะต้องจ่ายโดยเช็ค เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้ได้จำนวนไม่เกิน 5,000.00 บาท (ห้าพันบาทถ้วน)
การออกใบเสร็จรับเงิน
ข้อ 18. การรับเงินที่มีผู้บริจาคหรือโดยวิธีอื่น เหรัญญิกจะต้องทำใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน ใบเสร็จรับเงินจะต้องมีลายมือของเหรัญญิกหรือผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือเลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการทุกฉบับ
การเก็บรักษาบัญชี
ข้อ 19. เหรัญญิกเป็นผู้เก็บรักษาบัญชี รายรับรายจ่าย บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนบัญชีอย่างอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อแสดงฐานะของมูลนิธิโดยถูกต้อง ทั้งจะต้องเก็บรักษาเอกสารไว้ให้ผู้สอบบัญชีตรวจ และเป็นหลักฐานของมูลนิธิด้วย
ผู้สอบบัญชี
ข้อ 20. ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีในการประชุมประจำปี ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่เป็นกรรมการหรือพนักงานหรือผู้รับจ้างของมูลนิธิ
อำนาจผู้สอบบัญชี
ข้อ 21. ให้เหรัญญิกมีอำนาจตรวจเอกสารเกี่ยวกับบัญชีของมูลนิธิ และในการสอบบัญชีมีอำนาจสอบถามกรรมการ และพนักงานใด ๆ ของมูลนิธิได้
บัญชีงบดุล
ข้อ 22. ให้เหรัญญิกจัดทำบัญชีงบดุล และผู้สอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองในบัญชีงบดุลประจำปี และนำบัญชีงบดุลเสนอต่อคณะกรรมการในการประชุมสามัญประจำปีเพื่อขออนุมัติ
งบประมาณประจำปี
ข้อ 23. ให้เหรัญญิกทำงบประมาณการดำเนินงานประจำปี ที่จะต้องใช้จ่ายเสนอต่อคณะกรรมการในการประชุมสามัญประจำปีเพื่อขออนุมัติ
การตีความข้อบังคับ
ข้อ 24. ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อบังคับของมูลนิธิให้ประธานกรรมการชี้ขาด
การเลิกมูลนิธิ
ข้อ 25. นอกจากมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว หรือระเบียบข้อบังคับมูลนิธิ ให้มูลนิธิสิ้นสุดลงโดยมิต้องขอให้ศาลสั่งด้วยเหตุดังต่อไปนี้
ก. เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว ไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน เว้นแต่ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาเห็นว่า ทรัพย์ที่มูลนิธิได้รับนั้นพอที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
ข. เมื่อกรรมการของมูลนิธิจำนวนสามในสี่มีมติให้เลิก
ค. เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ง. เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ
เมื่อมูลนิธิสิ้นสุดแล้ว ทรัพย์สินของมูลนิธิให้โอนไปยังนิติบุคคลตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
ข้อ 26. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะมูลนิธิมาใช้บังคับเมื่อข้อบังคับของมูลนิธินี้มิได้กำหนดไว้