อารมณ์กับพฤติกรรมของเด็ก

882 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อารมณ์กับพฤติกรรมของเด็ก

อารมณ์กับพฤติกรรมของเด็ก

อารมณ์กับพฤติกรรมนั้นมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันตลอดเวลาไม่มีการแสดงออกหรือการกระทำใดของเด็กเกิดขึ้นโดยบังเอิญและไม่มีความหมายบางครั้งความสัมพันธ์นี้ก็ชัดเจน  เช่น  ลูกงอแงอาละวาดเพราะคุณไม่ซื้อของเล่นให้เขา แต่บางครั้งความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์กับพฤติกรรมที่สังเกตได้ยาก  เช่น  ลูกงอแงไม่ยอมไปโรงเรียนโดยไม่ทราบสาเหตุ  จนในที่สุดจึงพบว่าเขากลัวถูกเพื่อนรังแก  ดังนั้นคุณจึงควรสังเกตและค้นหาต้นเหตุของอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของลูกให้พบ

ความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์และพฤติกรรมนั้นไม่ได้ตายตัวหรือคาดเดาได้เสมอไป   โดยทั่วไปเด็กจะยิ้มเวลาดีใจและเบะหน้าหรือตัวสั่นเวลากลัว แต่บางครั้งเมื่อคุณตำหนิลูกหรือทำให้เขากังวล  เด็กอาจจะยิ้มแหย ๆ ในกรณีนี้รอยยิ้มไม่ได้หมายความว่าลูกดีใจ แต่เขายิ้มเพราะกลัวถูกคุณตำหนิเช่นเดียวกันกับที่บางครั้งเด็กจะตัวสั่น  เพราะรู้สึกตื่นเต้นไม่ใช่กลัวเช่นเวลาเล่นเครื่องเล่นที่ตื่นเต้นตามสวนสนุก

 

 

ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง

 

อารมณ์กับพฤติกรรม  ในทำนองเดียวกัน  เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม  สภาวะอารมณ์ของลูกก็จะเปลี่ยนไปด้วยสิ่งที่คุณควรใส่ใจคือ  สังเกตรายละเอียดของความเปลี่ยนแปลง เช่น ลูกอาจจะเปลี่ยนจากเด็กขี้อายมาเป็นเด็กกล้าแสดงออก หรือเปลี่ยนจากเด็กเรียบร้อยไปเป็นเด็กก้าวร้าว   พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ควรได้รับการสังเกตอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนไปในทางลบ (ถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  คุณคงจะดีใจและไม่อยากวิเคราะห์หาสาเหตุมากเท่าไหร่)

 

เมื่อใดที่พฤติกรรมลูกเปลี่ยนไปมาก  คุณควรจะถามตัวเองดังนี้

 

·        สภาวะอารมณ์แบบไหนที่ทำให้ลูกแสดงพฤติกรรมแบบนี้

·        มีเรื่องอะไรก่อนหน้านี้หรือเปล่าที่ทำให้ลูกเครียด

·        มีสัญญาณอะไรบ่บอกว่าเขากำลังประสบปัญหาบ้างไหม

·        ครั้งล่าสุดที่ลูกมีท่าทางหรือพฤติกรรมแบบนี้  เขากำลังเผชิญความเครียดเรื่องอะไร

·        ลูกรู้ตัวไหมว่าพฤติกรรมบางอย่างของเขาเปลี่ยนไป

·        ลูกอธิบายได้ไหมถึงความเปลี่ยนแปลงนี้

 

พิจารณาคำตอบเหล่านี้ให้ละเอียดรอบคอบ และใช้ข้อมูลที่ได้มาช่วยลูกแก้ปัญหาความเครียดที่ลูกกำลังเผชิญ

อย่างเร่งด่วน  เมื่อปัญหาได้ถูกแก้อย่างตรงจุด  พฤติกรรมของลูกก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม

 

 

อะไรเกิดก่อนกัน  :พฤติกรรมหรืออารมณ์

 

               เมื่อคุณหาความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมกับอารมณ์ของลูกพบ  เช่น  ลูกหงุดหงิดงอแงมากขึ้นกว่าตอนยังไม่มีน้องขณะคุณกำลังคิดหาวิธีช่วยให้ลูกปรับตัวในทางบวก  คุณไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นจากการพุ่งเป้าไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน (เช่น ช่วยให้เขารู้จักอดทนมากขึ้น) หรือควรพุ่งไปที่การปรับอารมณ์ก่อนดี (เช่น  ให้ความมั่นใจและความรักกับลูกมากขึ้น) วิธีที่ดีที่สุด คือ ทำทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน

 

 

๕ ข้อแนะนำ

รู้จักพูดถึงอารมณ์ตัวเอง  ถ้าลูกคุ้นเคยกับการพูดถึงอารมณ์ของตัวเองให้คุณฟัง เขาจะไว้วางใจคุณและปรึกษาคุณเวลาที่เขามีปัญหา การพูดได้ถึงอารมณ์ตัวเองยังเป็นทักษะการสังเกตตัวเองอย่างหนึ่ง

อย่ามองข้ามเรื่องธรรมดา ๆ คำตอบของลูกอาจจะตรงไปตรงมา เช่น ลูกบอกว่าที่เขาต้องการขโมยก็เพราะไม่มีเงินติดตัวเลย  คุณก็ควรรับฟังและอย่าพึ่งตีโพยตีพายกลัวลูกจะติดนิสัยลักขโมยแต่เด็ก  บางครั้งสาเหตุของปัญหาก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ ธรรมดาตามประสาเด็ก ไม่จำเป็นต้องพยายามค้นหาสาเหตุแบบซับซ้อนในทุกเรื่องเสมอ

พฤติกรรมที่คาดเดาได้   การเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของลูกอาจจะเป็นไปตามพัฒนาการของวัย  เช่น  เด็กวัยอนุบาลมักอยากเป็นตัวของตัวเองจึงทำให้เขาชอบเถียงและรอบต่อรอง  

อย่าคาดหวังมากเกินไป  ลองถามลูกดูว่าทำไมเขาจึงทำตัวอย่างนี้ แต่อย่าคาดหวังถึงขนาดลูกจะตอบคุณได้ทั้งหมดเพราะตัวเด็กเองบางทีก็ไม่รู้สาเหตุว่าเขารู้สึกอย่างไรและประพฤติตัวอย่างนั้นเพราะอะไร

คิดให้ละเอียดก่อนจัดการ  อย่าพึ่งด่วนสรุปพฤติกรรมของลูก ควรคิดและพิจารณาทุกเรื่องรอบ ๆ ตัวลูกให้ถี่ถ้วนก่อนว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมนั้นทั้งชีวิตที่บ้าน  การเรียน  และความสัมพันธ์กับเพื่อน  เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจจัดการอะไรลงไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้