ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. ๒๕๒๒
เพื่อสนับสนุนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งองค์การสหประชาชาติ


๔๕ ปีของการทำงาน เริ่มที่ บ้านทานตะวัน เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งทำให้มีเด็กยากจนขาดสารอาหารกว่าครึ่งประเทศ พร้อมกับสร้าง โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็น “โรงเรียนทางเลือก”

ที่เน้นความสุขและเสรีภาพในการเรียนรู้ของเด็กในระบบ “การศึกษาทางเลือก”

เมื่อพบว่ามีการละเมิดสิทธิเด็กมากขึ้น จึงสร้าง ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ตามด้วยโครงการเพื่อเด็กและครอบครัว

อีกมากมาย ทั้งหมดกลายเป็นสื่อรณรงค์ปัญหาเด็กในสังคมทุกด้าน ซึ่งนำไปสู่นโยบายทางสังคมและสาธารณะ

จนไปปรากฏในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ๒๕๕๐ และ ๒๕๖๐


ในอนาคตข้างหน้า จะขยายงานไปสู่ระดับรากหญ้า เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในตำบล

โดยทำงานร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

กับจะสร้างวรรณกรรมต่างๆ กับสมาคมนักเขียน

 

วิถีมูลนิธิเด็ก

“ชุมชนการศึกษาทางเลือกเพื่อการปฏิรูปการศึกษา “ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบพูด”

คือเส้นทางเดิน ที่มูลนิธิเด็กเลือกสร้างให้กับเด็กๆ เพื่อนำไปสุ่คุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านขบวนการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยความรักอย่างสนุกและมีความสุข ผ่านนิทานจินตนาการ ผ่านอาหารคุณภาพ ผ่านงานศิลปะ
ผ่านความรู้ในการพัฒนาเด็กด้านต่างๆ
มูลนิธิเด็กได้สร้างโรงเรียนทางเลือก ห้องเรียนทางเลือก ห้องสมุดทางเลือก หนังสือทางเลือก เพื่อให้เด็กได้เลือก
การพัฒนาตนเองตามวิถีที่ดีที่สุด เราไม่ได้ทำเฉพาะเด็ก ๒๕๐ คน ในหมู่บ้านเด็ก ในอนุบาลหมู่บ้านเด็กฯ และห้องเรียน
บ้านทานตะวันเท่านั้น แต่ทำกับเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กของชุมชนและเด็กชนชั้นกลางใน Home School ด้วย
เราจัดให้มี “ตู้หนังสือในบ้านเด็กยากจน” ในชนบทได้ถึง ๙๔๙ ครอบครัว โดยกระจายไปยังเด็ก ๙๔๙ คน ๒๐๑
โรงเรียน ๑๒๖ ตำบล ๖๖ อำเภอ ๒๗ จังหวัด จากจำนวนหนังสือ ๗๐,๙๐๘ เล่ม “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” จะกลายเป็น
"ห้องสมุดหมู่บ้าน” จากการรวมกลุ่มของเด็ก ๑๐ ครอบครัว ที่จะแลกเปลี่ยนหนังสืออ่านกันในหมู่บ้าน และในโรงเรียน
ส่วนเด็กป่วยในโรงพยาบาลได้หนังสืออ่าน ผ่าน “รถเข็นนิทานในหอผู้ป่วยเด็ก" ซึ่งวันนี้ส่งไปแล้ว ๑,๓๔๔ คัน
หนังสือ ๑๕๔,๙๘๑ เล่ม ในโรงพยาบาล ๑,๑๗๓ แห่ง โดยมีเด็กใช้บริการถึง ๑๗๕,๙๕๐ คน ตลอดระยะเวลา ๗ ปี



โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับนักคิดทางการศึกษา สร้างโรงเรียนทางเลือกใหม่ ๆ โดยนำปรัชญาการศึกษาต่างๆ

มาพัฒนาเด็กในระบบโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นแนวมอนเตสซอรี วอลดอร์ฟ นีโอฮิวแมนนิส พุทธศาสนา ซัมเมอร์ฮิล และทำให้
พ่อแม่นักการศึกษา เลือกวิธีการจัดการศึกษาให้กับลูกของตัวเอง ในระบบโรงเรียนในบ้าน (Home School) ซึ่งมีกว่า ๕๐๐ ครอบครัวสิ่งที่ได้

ไม่ใช่เด็ก ๆ มีความสุขกับการเรียนรู้ตามความถนัดเท่านั้น เรายังได้พ่อแม่ที่มาจากฐานความรู้ และอาชีพที่หลากหลาย
มาเรียนรู้การพัฒนาเด็กแล้วนำไปใช้กับลูกของตน เมื่อวัยของลูกผ่านไป พ่อแม่ทุกคนจะกลายเป็นผู้ชำนาญการเรื่องการศึกษาจิตวิทยา

และพัฒนาการเด็ก ซึ่งมูลนิธิเด็กจะนำพ่อแม่เหล่านี้เข้ามามีบทบาททางการศึกต่อไป
เราสร้าง “กล่องเรียนรู้แสนสนุก” ให้เป็นห้องเรียนทางเลือก ๘ ห้อง คือ ห้องงานไม้ ห้องศิลปหัตถกรรม ห้องมัดย้อม
ห้องโยคะ ห้องวัดแวว ห้องสวนผัก และนาธรรมชาติ ห้องทำอาหาร ห้องเล่น นอกเหนือจากห้องเรียนปกติ ทั้งหมดอยู่ใน
บรรยากาศเสรีภาพและการปกครองตนเอง มูลนิธิเด็กเสนอคำขวัญใหม่ในวิถีการศึกษาต่อสังคมว่า

“ชอบอ่าน ชอบเขียน กล้าคิด กล้าพูด” ตามเสียงของ “นายเข้ม  ใจดี” จากบทละครของ “คนหน้าขาว"

ที่มาจากชีวิตของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งองค์การยูเนสโก ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
งานมูลนิธิเด็กตลอด ๓๗ ปี เป็นงานทดลองนวัตกรรม (Innovation) การศึกษาและความรู้เด็กใหม่ ๆ
ที่เสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

 

                                                                                     พิภพ  ธงไชย
                                                                                  เลขาธิการมูลนิธิเด็ก
                                                                                    ตุลาคม ๒๕๕๙

 
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้