หนูปลูกเองได้

คุณสมบัติสินค้า:

Share

หนูปลูกเองได้

เค้าโครงเรื่องโดย : ปฏิมาภรณ์ เซ็งแซ่

คำกลอนโดย : ในดวงตา ปทุมสูติ

ภาพประกอบโดย : ลลิตา นิมมานเหมินท์

 

     นิทานคำคล้องจองอ่านสนุก บอกเล่าเรื่องราวของหนูเตยที่ค่อยๆ เรียนรู้ถึงการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ให้เติบโตขึ้นเป็นดอกไม้ที่สวยงาม ทว่า ก่อนที่ต้นไม้ดอกไม้ทั้งหลายจะเติบโตขึ้นได้ ก็มีบ้างบางครั้งที่ต้นกล้าน้อยๆ ต้องอับเฉาหรือแห้งเหี่ยวตายไป เนื่องจากเด็กน้อยยังขาดความเข้าใจว่าการจะเพาะปลูกดูแลต้นไม้สักต้น ย่อมต้องมีความเอาใจใส่อย่างพอเหมาะพอดี คอยดูแลให้เมล็ดพันธุ์ได้รับแสงแดดและน้ำหล่อเลี้ยงอย่างพอเหมาะ  ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป แม้หนูเตยอาจต้องร้องไห้เสียใจบ้างเพราะบางครั้งต้นไม้ที่ตั้งใจปลูกกลับตายลง แต่ไม่ว่าอย่างไร ความผิดพลาดเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นบทเรียนอันคุ้มค่า ทำให้หนูเตยคอยเอาใจใส่ดูแลเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือเพื่อให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงโดยมีคุณพ่อคอยเป็นกำลังอยู่เคียงข้างและคอยให้คำแนะนำดีๆ ในการดูแลต้นไม้แก่หนูเตยเสมอ      

 

 

ความเป็นมา

               หนังสือเล่มนี้เกิดจากโครงการพิเศษที่นำอาสาสมัครจำนวน ๖ คนไปคลุกคลีกับเด็กๆ อายุระหว่าง ๑ – ๖ ปี ที่ศูนย์พักพิง บ้านทานตะวัน และโรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก ทุกคนมีส่วนร่วมจัดเตรียมที่นอน แจกอาหาร เช็ดตัว ทาแป้งแต่งตัวให้เด็กๆ รวมถึงเล่านิทานอ่านหนังสือให้ฟัง เป็นเวลา ๑ เดือน เพื่อให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก รวมถึงวิธีการสื่อสารพูดคุยกับเด็กด้วยตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าในห้องสมุดจากนั้นจึงให้อาสาสมัครแต่ละคนสร้างสรรค์ต้นฉบับหนังสือสำหรับเด็ก คนละ ๑ ชิ้น

 

เนื้อหาสัมพันธ์กับพัฒนาการตามวัย

หนังสือเรื่อง หนูปลูกเองได้ เกิดจากการสังเกตเห็นว่าพฤติกรรมเด่นชัดข้อหนึ่งของเด็กวัย ๓ – ๕ ปี คือ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และเริ่มอยากทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะกล้ามเนื้อแขนขาของเขาแข็งแรงมากขึ้น การเคลื่อนไหวของร่างกายทุกส่วนเริ่มทำงานประสานกันได้ดี สามารถควบคุมให้เป็นไปอย่างใจได้ ฉะนั้น เมื่อร่างกายพร้อม เด็กจึงอยากทดสอบว่าตัวเองจะทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จอย่างที่ใจคิดหรือเปล่า

เราจึงควรสนับสนุนให้เด็กได้ริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ที่ท้าทายความสามารถ โดยเริ่มจากอะไรง่ายๆ ก่อน เช่น ตักข้าวกินเอง เดินเอาจานข้าวไปเก็บ สวมใส่เสื้อผ้าเอง เก็บของเล่นใส่กล่อง ฯลฯ เมื่อฝึกทำกิจวัตรส่วนของตนได้บ้างแล้ว อาจเพิ่มกิจกรรมอื่นๆ ให้เด็กได้ทำและรับผิดชอบ เช่น ช่วยเช็ดจานชาม รดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

การส่งเสริมเหล่านี้จะทำให้เด็กมีความสุขและรู้สึกดีที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำสุดความสามารถของเขา ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการอื่นๆ ที่จะตามมา อาทิเช่น

|เพิ่มระดับความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง

|มองการทำงานเป็นเรื่องสนุก จะไม่อิดออดเมื่อต้องช่วยงาน

|รู้จักรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย

|มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

เนื้อหาของ หนูปลูกเองได้  จึงพูดถึงเด็กหญิงเตยวัยอนุบาล ที่ครูให้ปลูกต้นทานตะวันเป็นการบ้านช่วงปิดเทอม โดยมีคุณพ่อช่วยปลูกอย่างใกล้ชิด แต่มีเหตุทำให้การปลูกล้มเหลวใน ๒ ครั้งแรก แต่สุดท้ายด้วยความช่วยเหลือและกำลังใจจากคุณพ่อ ต้นทานตะวันของหนูเตยจึงงอกงามทันเปิดเทอมพอดี

 

คุณพ่อยอดฮีโร่

               ในเรื่อง หนูปลูกเองได้ หนูเตยมีคุณพ่อคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นข้อดีในทางจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก เนื่องจากเด็กทั้งหญิงและชายจะมี “แม่” เป็นที่รัก และมี “พ่อ” เป็นวีรบุรุษ การมีทั้งพ่อและแม่อยู่เคียงข้างจึงเป็นเบ้าหล่อหลอมให้เด็กมีสมดุลระหว่างบุคลิกภาพ “ด้านอ่อน” คือความอ่อนโยน และ “ด้านแข็ง” คือความหนักแน่นมั่นคง  แต่หนังสือนิทานสำหรับเด็กส่วนใหญ่ “แม่” จะมีบทบาทมากกว่า ซึ่งจะดีไม่น้อยถ้าหากเราจะมีหนังสือที่ “พ่อ” เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การมีพ่อคอยช่วยเหลือหรือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย และมีความทรงจำที่ดีของวัยเยาว์ ความน่ารักของคุณพ่อปรากฏอยู่ตลอดในนิทานเรื่องนี้

“พ่อรู้ไหมคะ                         ต้นอะไรเอ่ย

ช่วยบอกหนูเตย                     ได้ไหม พ่อขา”

“ไม่ยาก ไม่ยาก                     หากลูก อยากรู้

มาลองปลูกดู                         ด้วยกัน ดีกว่า”

หนูเตยตาโต                          ตื่นเต้นดีใจ

“ปลูกได้ ปลูกได้                    สบายบรื๋อ พ่อขา”

พ่อช่วยตักดิน                        ลงกระถางน้อย

หนูเตย ค่อย ค่อย                   หยอดเมล็ด ช้า ช้า

 

คล้องจอง สมองดี

นำเสนอเป็นคำคล้องจองแบบกลอนสี่ ใช้คำง่าย พิถีพิถันในการประพันธ์ให้คำที่สัมผัสคล้องจองกันนั้นเกิดจังหวะชวนสนุกเด็กๆ สามารถท่องตามได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น

หลายวันผ่านไป                    ดินไม่ กระดิก 

ไม่โผล่ ไม่พลิก                     ไม่ผลิ ต้นกล้า

จากเคยตื่นเต้น                       รดเย็น รดเช้า

ก็เริ่ม บางเบา                         ละเลย เวลา

ไม่ช้าไม่นาน                         ดินเริ่ม แข็งโป๊ก

ไม่ชุ่มไม่โชก                         เหมือนดัง ก่อนหน้า

 หนูเตยหน้าเบ้                       เบะปาก ร้องไห้

เสียอก เสียใจ                         “ไม่น่า ไม่น่า”

                    คำคล้องจองแบบนี้มีจังหวะคล้ายเสียงดนตรี  สร้างความเพลิดเพลิน ทำให้สมองเด็กหลั่งฮอร์โมนความสุขในขณะอ่านไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางกาย ใจ และสมองของเด็ก ดังนั้นการอ่านบทกลอนคำคล้องจองดีๆ ให้เด็กเล็กฟังจึงเป็นการพัฒนามิติภายในของเด็กที่สำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกได้เองอย่างง่ายๆ

               นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้มีคำคล้องจองทั้งหมด ๙๒ วรรค มีคำทั้งหมด ๓๖๘ คำ นี่จะเป็นคลังคำที่สมองเด็กจะได้นำมาใช้ในการพูดคุยประจำวัน คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูได้ว่าเด็กๆ ที่มีผู้ใหญ่พูดคุยและอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำจะเป็นเด็กช่างพูดช่างเจรจา นั่นเป็นเพราะเขามี “คำ” ที่จะใช้สื่อสารแทนความคิดของเขามากพอนั่นเอง

“คลังคำ” นี้เราจะเห็นประโยชน์อีกทีก็เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน โดยเฉพาะการเรียนภาษาทั้งอ่านและเขียน ที่เด็กจะดึงเอาคลังคำที่เขาเก็บสะสมในสมองออกมาต่อยอดต่อไป ยิ่งมีคลังคำมากเท่าไร เด็กๆ ก็จะต่อยอดได้ไกลเท่านั้น

 
อ่านแล้วชวนทำ

               เมื่อได้อ่านหนังสือนี้ร่วมกันแล้ว หากเห็นว่าเด็กมีความกระตือรือร้นอยากทำอย่างตัวละครในเรื่อง คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำอะไรง่ายๆ ดูบ้าง ซึ่งต้องเตรียมใจไว้ก่อนว่าเด็กจะยังทำได้ไม่ดี มีหกตกหล่น เลอะเทอะบ้าง นั่นเป็นเพราะสมองส่วนสั่งการเคลื่อนไหว (Sensory motor) เพิ่งจะได้เริ่มฝึกสั่งให้มือทำงาน มีเพียงวิธีเดียวที่ช่วยได้คือ ให้ทำซ้ำบ่อยๆ โดยผู้ใหญ่คอยให้กำลังใจ

               แต่หากอ่านร่วมกันแล้ว เด็กไม่เรียกร้องอยากทำตาม คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านไปกระตุ้นไป และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำกิจกรรมอะไรที่มีในหนังสือก็ให้ชวนลูกมาลองทำพร้อมกัน เด็กกลุ่มนี้อาจจะต้องการการให้กำลังใจมากกว่ากลุ่มแรก ไม่ควรตำหนิเป็นอันขาด เพราะคำตำหนิมีผลทำให้วงจรสมองปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

 
              หวังว่านิทานภาพเรื่อง หนูปลูกเองได้ จะเป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก ได้ใช้ในการฝึกให้เด็กรู้จักพึ่งพาตัวเองระดับเริ่มต้น เพื่อจะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

 

ทศสิริ พูลนวล

บรรณาธิการบริหาร

งานพัฒนาหนังสือเด็ก มูลนิธิเด็ก

 

๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้