อนุบาลสานรัก บ้านหลังที่สามของเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง

1157 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนุบาลสานรัก บ้านหลังที่สามของเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง

โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก
มูลนิธิเด็ก

แต่คนทั่วไปเรียก “อนุบาลสานรัก”

 

“อนุบาลสานรัก” เป็นบ้านหลังที่สามของเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง ไร้คนเหลียวแล เด็กที่มีความต้องการพิเศษหลากหลายประเภทอยู่ร่วมกัน 60 คน ซึ่งเด็กหลายคนมาจากบ้านหลังที่สอง คือ “บ้านทานตะวัน” เด็กเล็ก ภายใต้มูลนิธิเด็ก

ในวัยแรกเริ่มของชีวิต ลูกชนชั้นกลางและคนรวย จะได้ครบทั้งความรัก ได้ตามความต้องการ ได้ความภูมิใจและความเป็นเลิศ ได้ปัจจัย 4 ที่สมบูรณ์

แต่เด็กกำพร้า และเด็กถูกทอดทิ้ง ครอบครัวยากจนจะบกพร่องทุกเรื่องทั้งปัจจัย 4  ทั้งอ้อมกอด มีแต่ปมด้อยที่ได้รับ  อนิจจาความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ไม่มี  ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  เช่น
ออทิสติก สมาธิสั้น (Hyperactivity) IQ ต่ำ  รวมถึงเด็กไม่มีบัตรเลข 13 หลัก  ยิ่งซ้ำร้ายการศึกษาในระบบกระแสหลักไม่หมายปองเพราะรัฐไม่มีงบประมาณไปช่วยเหลือโรงเรียนเด็กกลุ่มนี้  จึงใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากจึงเป็นเหตุให้มีปมเกลียดชีวิต

ถ้าเด็กมีพ่อแม่อาศัยในเมืองหรือมีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวความยากจน และปัญหาชีวิตไม่มีทางออกหันไปพึ่งสุรายาเสพติดการพนัน ปมเกลียดชีวิตของพ่อและแม่จะยิ่งรุนแรง จะไปแสดงออกที่ลูก  เด็กจึงมีปัญหาหนัก  ถ้าปมเกลียดชีวิตจะถ่ายทอดให้เด็กอย่างฝังลึก เกิดจากการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ติดต่อกันเป็นเวลานาน เด็กจะส่งต่อปัญหาจากรุ่นสู่รุ่น  และจะหันมาทำร้ายสังคมด้วย



“อนุบาลสานรัก”  จึงเป็นยิ่งกว่าบ้านและโรงเรียนในทัศนะทั่วไป เราตระหนักในปมปัญหาทางจิตใจของเด็กเพราะเราเชื่อว่าเด็กคือเด็กปกติตั้งแต่แรกเกิดแต่พ่อและแม่ถ่ายทอดปมมาที่ลูก เด็กจึงมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ก้าวร้าว ลักขโมย โกหก และพฤติกรรมทางเพศผิดปกติ  เราจึงต้องลดปัญหานี้ก่อน โดยจัดสิ่งแวดล้อม  หรือปรโตโฆษะ  ที่เป็นกัลยาณมิตร  เช่น  เลือกครูที่เป็นปิยมิตร  อาคารเรียนไม่มีสัญลักษณ์ทางอำนาจ สื่อการเรียนรู้ง่ายและสนุกพร้อมกับพัฒนาทุกส่วน  กิจกรรมร่วมทำระหว่างครูและเด็ก ในขณะเดียวกันก็ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ จะช่วยลดปัญหาการเกลียดชีวิตของเด็กสมกับคำว่า “สานรัก”




โรงเรียน คือ สถานที่แห่งการเรียนรู้



ระบบการศึกษาที่เป็นโรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็ก สานรัก

                1. ผู้บริหาร  ผู้เป็นดั่งกัลยาณมิตรต่อเด็กและครู

                2. ครูเป็นบุคลากรที่ส่งเสริมประชาธิปไตย 

                3. อาคารสถานที่ ให้ความรู้สึกเป็นดั่งบ้าน มีความอบอุ่น

                4. หลักสูตรแบบเปิดคือให้ครูและเด็กคิดกิจกรรมเองได้โดยครูให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือให้คำแนะนำ  และเป็นไปตามจินตนาการของเด็ก

                5. ห้องเรียนต้องจัดให้สะอาด  บรรยากาศครึกครื้น  สว่าง  มีสื่อให้เด็กค้นคว้าตามที่อยากรู้  ถ้าเด็กไม่ถาม  ครูจะถามเด็กด้วยคำถามปลายเปิดกระตุ้นให้เด็กอยากรู้และค้นหาคำตอบและนำไปสู่การปฏิบัติ

                6. มีกิจกรรมเสริมให้เกิดคุณภาพเช่น รักการอ่าน ดูหนังสร้างจินตนาการ ตระหนักรู้ในสารพิษ ลดโลภ ลดโทสะ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ฟังเพลงให้เกิดการผสานของสายใยประสาท ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนแข็งแรง รู้จักระบบนิเวศน์โดยการทำเกษตร



ดังตัวอย่างเช่นเรื่องราวของน้องหงส์หยก หงส์หยกชอบมาเรียนฝึกอาชีพที่ห้องเย็บผ้าของคุณครูป๊อย เป็นอย่างมาก ปัจจุบันหงส์หยกอายุได้ 4 ขวบแล้ว หงส์หยกชอบทำกิจกรรมที่ห้องเรียน   เริ่มแรกเมื่อตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ หงส์หยกมีความกลัว และร้องไห้  แต่พอเริ่มปรับตัวได้ โดยมีคุณครูและพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือดูแลและมอบความรักให้   หงส์หยกจึงร่าเริงมากขึ้น เล่นกับเพื่อนๆ เป็นเด็กที่ช่างพูด พูดจาไพเราะว่านอนสอนง่าย  หงส์หยกชอบเต้น  เต้นท่าดุ๊กดิ๊ก เวลาที่คุณครูบอกหงส์หยกเต้นให้พี่ๆ ดูสิคะ  หงส์หยกไม่รีรอที่จะเต้น ลุกขึ้นมาเต้นท่า “โจ๊ะ พึม พึม” ส่ายเอว  จนพี่ๆ ยิ้มกันไม่หุบปากในความน่ารักของหงส์หยก ยามว่างหงส์หยกก็ชอบอ่านหนังสือภาพที่มีรูปรถไฟ  จะเปิดภาพดูและสามารถเล่าเรื่องจากภาพได้อย่างสนุกสนาน  แต่หากมีเรื่องที่เศร้าใจก็จะร้องไห้  ปัจจุบันหงส์หยกสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น เช่น การเข้าห้องน้ำเองโดยไม่กลัว ไม่ร้องไห้  และชอบทำกิจกรรมต่างๆ 





สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ที่เปรียบเสมือนบ้านของเด็ก  เมื่อเด็กๆ ได้รับโอกาสดีๆ และความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีของสังคม  เชื่อว่า เราสามารถสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กไม่มากก็น้อย  เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตมาอย่างสมบูรณ์  “หากเปรียบเด็กเสมือนดั่งของขวัญจากพระเจ้า  พระเจ้าคงอยากเห็นเด็กมีความสุขเพื่อมอบสิ่งที่ดีงามให้กับโลกใบนี้ต่อไป...”

 

เขียนโดย :    Ramon  (สื่อสังคม)  

นางรัชนี ธงไชย   ที่ปรึกษาโครงการ ฯลฯ



ร่วมสนับสนุนการศึกษาของเด็กเพื่อชีวิตใหม่ได้ที่

“โรงเรียนอนุบาลสานรัก มูลนิธิเด็ก”

โทร. 02- 814-1481,  พี่วัน 094-975-4796 , LINE ID: mbds.ffc

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้