ดนตรีแห่งความสุข...สู่น้องผู้ด้อยโอกาส

1040 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดนตรีแห่งความสุข...สู่น้องผู้ด้อยโอกาส

ดนตรีแห่งความสุข...สู่น้องผู้ด้อยโอกาส


การเรียนดนตรีเป็นสิ่งที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยสนใจให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และช่วยสร้างความสุขให้เด็กได้ ไม่ว่าเด็กจะมาจากไหน ถูกเลี้ยงดูมาแบบใด ดนตรีก็ช่วยให้รู้สึกสนุกและมีความสุขในหัวใจ

กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับเด็กเล็กด้วยดนตรี จึงเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากช่วยให้เด็กสนุกสนานและมีความสุขแล้ว การเรียนดนตรียังช่วยเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ช่วยให้เด็กมีสังคมที่ดี และช่วยพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่างๆ ของเด็กได้เป็นอย่างดี

ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ มูลนิธิเด็กได้นำหลักสูตร “Suzuki Early Childhood Education” โดยทีมงาน ครูฟาง-กมลมาศ เจริญสุข จากโรงเรียนดนตรีเอื้อมอารีย์ ที่ผ่านการอบรมจาก “Suzuki Early Childhood Education” มาสอนน้องๆ ที่มูลนิธิเด็ก ซึ่งมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ขาดโอกาสทางการศึกษา และขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการผ่านดนตรี แบบไม่กดดัน ไม่เร่งรัด ด้วยเชื่อว่าดนตรีเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างงดงาม

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณครูศุภณัฐ ผิวชื่น หรือ “คุณครูจูเนียร์” ของน้องๆ คุณครูผู้มีประสบการณ์การสอนมากว่า ๖ ปี และเป็น ๑ ในทีมครูสอนดนตรีจากโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ (มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข) ซึ่งเห็นคุณค่าของน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสที่มูลนิธิเด็ก และได้มอบความรู้เกี่ยวกับดนตรีนี้ให้แก่น้องๆ มาฟังวิธีการสอนและประโยชน์ของดนตรี รวมถึงมุมมองที่มีต่อเด็กๆ ของเราจากคุณครูจูเนียร์กันค่ะว่าเป็นอย่างไร

การเรียนดนตรีช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรบ้างคะ สิ่งที่เด็กจะได้ คือ การอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน เราไม่ได้เน้นแค่เรียนดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นเรื่องบุคลิกภาพของแต่ละคนด้วย คือ ทำอย่างไรให้เด็กๆ มีบุคลิกภาพที่ดีด้วย ก่อนที่เราจะเรียนการเป็นนักดนตรีที่ดีได้ เราควรจะมีบุคลิกภาพที่ดี รวมถึงการเข้าสังคม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้

ในมุมมองของคุณครู เด็กที่อารมณ์ก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่ง ดนตรีมีส่วนช่วยอย่างไรได้บ้างคะ จริงๆ แล้วอารมณ์ของเด็กจะมีเวลาเป็นของตัวเอง เช่น ในช่วง ๑ ขวบ เป็นแบบหนึ่ง ช่วง ๒ ขวบก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เขาจะมีอารมณ์ในช่วงวัยนั้นๆ แน่นอนว่าต้องมีช่วงเวลาใดช่วงหนึ่งที่เขาอาจจะซึมซับอารมณ์และจัดการกับอารมณ์นั้นยังไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมตรงนี้เขาอาจจะได้มาจากสื่อ หรือสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ทันระวังตรงนั้น

พอมาเรียนดนตรี มาอยู่ในห้องของเรา เราจะต้องทำสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ คือ สิ่งแวดล้อมที่สงบ ห้องเรียนของเราก็จะทำให้สงบที่สุด ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา เช่น มีความรุนแรงในห้องเรียน สิ่งนั้นจะต้องหยุดให้เร็วที่สุด นั่นคือการสร้างบรรยากาศให้เขาได้ซึมซับความสงบ เมื่อเขาได้รับความสงบ ก็จะส่งผลให้จิตใจสงบและพร้อมเรียนรู้ตามไปด้วยนั่นเอง

จากประสบการณ์ที่คุณครูได้สอนดนตรีให้กับน้องๆ ที่มูลนิธิเด็ก ดนตรีส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมองของน้องๆ มากน้อยเพียงใดคะ
จริงๆ ได้หลายส่วนเลย แต่สมองจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะจะต้องแยกแยะและสั่งการร่างกายทุกๆ ส่วนในกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย ๐-๕ ขวบ การรับเสียงของเขาจะเปิดกว้างมาก พอได้ฟังดนตรีจะทำให้หูเปิดกว้าง พอหูเปิดกว้างเขาก็สามารถฟังเสียงได้เยอะมากขึ้น แยกแยะเสียงได้มากขึ้น และทำให้น้องมีสมาธิมากขึ้นด้วย

ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ แน่นอนว่าน้องๆ ได้พัฒนาจากการทำกิจกรรมอยู่แล้ว เช่น การจับผ้า การตีกลอง ได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ครบทุกส่วนของร่างกาย และผู้ปกครองก็สามารถมีส่วนร่วมกับน้องๆ ได้ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในห้องเรียน เพราะเมื่ออยู่ในห้องเรียนผู้ใหญ่กับเด็กจะได้มีกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ยกตัวอย่างของน้องๆ ในห้องเรียน ๕๐ นาที จะมีความผูกพันกับคุณครู ผู้ใหญ่ผู้ปกครองของเด็กด้วยในการได้บอกรัก ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กที่ขาดความอบอุ่นเขาจะได้ตรงนี้และมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น

ในกิจกรรมดนตรีที่ได้ประโยชน์กับกล้ามเนื้อ เช่น กิจกรรมการตีกลอง ช่วงตีกลองที่ต้องจับไม้ แล้วตีซ้ำๆ ลงไป ที่มีจังหวะเล็กๆ ย่อยลงไป ตรงนี้จะช่วยได้มาก น้องบางคนเป็นเด็กเล็กและยังเดินไม่ได้ แต่เขาคลานมาหาเรา ตรงนี้ก็ได้กล้ามเนื้อทุกส่วน และจะได้ผลดีสำหรับเด็กในทุกวัย เพราะว่าหลักสูตรที่นี่ไม่ได้สอนเฉพาะ ๐-๕ ขวบ เท่านั้น แต่เป็นหลักสูตรที่วางแผนการสอนระยะยาวเป็น ๒๐ ปีเลย เพราะฉะนั้นเมื่อพื้นฐานแน่น พอน้องโตขึ้นน้องก็จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

เด็กด้อยโอกาสของเราบางคน เป็นเด็กพิเศษ คุณครูมีวิธีการสอนเด็กกลุ่มนี้อย่างไรบ้างคะ อย่างแรกต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กก่อน ยกตัวอย่าง น้องโลตัส ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ คือ สมองส่วนที่พัฒนาการด้านการพูดช้า มาเรียนคาบแรกเขาไม่เอาอะไรเลย ไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย เพราะฉะนั้นสำหรับเราผู้สอน เราจะทำให้เขารู้สึกว่าเราปลอดภัยสำหรับเขาก่อน และค่อยๆ ทำความรู้จักกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาเปิดใจเรียนรู้กับเราได้นั่นเอง เมื่อเขารู้สึกปลอดภัยกับเรา สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำต่างๆ เขาสามารถจดจำได้เหมือนเด็กปกติเลยครับ น้องโลตัส แรกๆ จะไม่ค่อยกล้าทำ แต่ตอนนี้น้องเป็นคนแรกเลยที่วิ่งเข้าห้องเรียน เพราะพอเรารู้ว่าเราทำให้น้องเขารู้สึกปลอดภัยแล้ว เราจะค่อยๆ พัฒนาน้องต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ผมว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนดนตรีได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษหรือบกพร่องส่วนใดก็ตาม เด็กๆ สามารถเรียนได้ครับ ขึ้นอยู่กับคุณครูว่าจะปรับให้เข้าหาเด็กได้อย่างไรมากกว่า เพราะดนตรีนั้นเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากๆ เลยครับ

สุดท้าย อยากทราบความรู้สึกที่ได้มีโอกาสมาสอนน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสที่มูลนิธิเด็กค่ะ ในด้านของความรู้สึก เริ่มแรกไม่คิดว่าจะได้มาสอนเด็กเล็กของมูลนิธิเด็ก ซึ่งน้องๆ มาจากครอบครัวขาดความอบอุ่น และขาดโอกาสด้านการศึกษา พอได้มาสอนแล้ว

ตอนแรกรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าเราสอนเด็กข้างนอกมา แล้วพอมาสอนเด็กที่นี่ เราอยากรู้ว่าน้องเขาจะเป็นอย่างไรนะ แต่พอได้มาสอนจริงๆ น้องๆ น่ารักมากๆ น้องๆ เองก็ตื่นเต้นมากๆ ด้วยเช่นกัน และเขาก็รู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่เรากำลังทำเพื่อน้องๆ เขาจะตื่นเต้นทุกครั้งที่มาเรียน อย่างตอนคุณครูมาถึงมูลนิธิเด็ก จอดรถข้างหน้า น้องๆ ก็จะตะโกนกันว่า “คุณครูมาแล้ว..คุณครูมาแล้ว” เขารู้เลยว่าจะเจอกันในห้องเรียน

น้องบางคนเราได้เห็นพัฒนาการของเขาตั้งแต่ยังเดินไม่ได้เลย จนตอนนี้เริ่มเดิน เริ่มวิ่งกันได้แล้ว ซึ่งเราค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กไปเรื่อยๆ เพราะน้องๆ บางคนเมื่อถึงวัยหนึ่งจะมีพฤติกรรมที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น หากวันไหนที่เราเห็นแนวโน้มพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในกรณีของน้องบางคน ผมจะแจ้งให้ผู้ดูแลเด็กจากมูลนิธิเด็กทราบเลยว่าเด็กคนไหนอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งผู้ดูแลเด็กจะแก้ไขให้ทันที ทำให้ห้องเรียนสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ

ส่วนเด็กที่มาเรียนแล้วพัฒนาได้ดี คือ น้องโมจิ น้องโมจิจะมาเรียนบ่อยๆ และจำทุกอย่าง จำทุกกิจกรรมได้ ที่จริงเด็กทุกคนที่มาเรียนจำรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ค่อนข้างดีหลายคนเหมือนกัน อย่างเช่น บางสัปดาห์ที่ผมสลับกิจกรรม สมมติตีกลองเสร็จจะต้องไปตีเครื่องดนตรีกล็อคเคนสปิล (Glockenspiel) ก่อน แต่ผมไปทำอย่างอื่น เด็กๆ จะทำหน้างง เอ๊ะทำไมไม่เหมือนเดิม น้องบางคนพอเห็นว่าไม่มีเพลง Incy Wincy Spider ก็มาถามครูว่า Incy ไปไหน เด็กๆ เขาจำกิจกรรมที่เราสอนได้

 

หรือพี่ๆ ที่เรียนมานานอย่างพี่เข้ม พี่ใบบัว จะเริ่มเป็นเหมือนผู้ช่วยครูตัวน้อย คอยช่วยทำตัวอย่างให้น้องๆ ดู คอยช่วยแจกผ้าเก็บกลอง ร้องเพลงเสียงดังฟังชัด ความมั่นใจตรงนี้จะถูกส่งต่อให้ทุกๆ คนในห้องด้วย และเห็นพัฒนาการของเด็กหลายๆ คน 

น้องบางคนจากไม่ทำเลยก็เริ่มจำ จากที่ดูอย่างเดียวก็เริ่มอยากจะเรียนรู้มากขึ้น ผมว่าถ้าน้องๆ เข้ามาสังเกตการณ์ นั่นคือความกล้าของเขาแล้ว จากที่ได้มาเรียนเรื่อยๆ และได้ทำซ้ำ เขาจะเกิดความมั่นใจมากขึ้น และอย่างแรกเลยคือเราต้องเชื่อก่อนว่าน้องทำได้ เราต้องเชื่อมั่นใจตัวน้องก่อน ส่วนที่สองคือผู้ปกครองต้องเชื่อว่าน้องทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ตอนนี้ไม่เป็นไร เรามาช่วยกัน สร้างความมั่นใจให้เขา เพราะความมั่นใจนี้มันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตข้างนอกด้วย ว่าน้องจะโตมาเป็นเด็กมั่นใจไหม หรือโตมาเป็นเด็กขี้อาย ขี้โมโห อันนี้ต้องแก้ไข โดยเริ่มจากจังหวะเล็กๆ ในห้องเรียนนี้แหละครับ

สมมติในห้องเรียนมีเด็ก ๑๐ คน แน่นอนเด็กใช้การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน น้องบางคนอาจจะมองเฉยๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้ บางคนชอบทำบ่อยๆ จะได้มั่นใจ บางคนทำบ้างไม่ทำบ้าง

เพราะฉะนั้นครูผู้สอนต้องรู้จุดสนใจของแต่ละคน อย่างเวลาผมไปสอนก็จะรู้ว่า วันนี้ต้องฝึกคนนี้เยอะๆ ให้น้องคนนี้ทำเยอะหน่อย น้องคนนี้ทำใกล้น้องคนนี้ เพราะน้องคนนี้ชอบเห็นน้องคนนี้ทำ ถ้าเขาได้เห็นคนนี้ทำเขาจะรู้สึกอยากเหมือนคนนี้มากเลย เราจะต้องคอยจับคู่ให้น้องคนนี้ใกล้คนนี้ เป็นต้น

ถามว่ายากไหมในการสอนเด็กๆ จากมูลนิธิเด็ก อยากจะบอกว่าไม่ยากเลย ถ้าเราเข้าใจและเรียนรู้ในตัวเด็กดังที่กล่าวมาทั้งหมด และรู้สึกมีความสุขที่ได้สอนน้องๆ ครับ

และนี่คือความรู้สึกของครูผู้สอนดนตรีให้กับน้องๆ ที่ด้อยโอกาส ของมูลนิธิเด็ก โดยวิธีการสอนของ คุณครูจูเนียร์ ผู้น่ารักของน้องๆ ที่ได้สละเวลา พลังกาย พลังใจ และเห็นประโยชน์อย่างแท้จริงที่เด็กๆ จะได้รับจากการเรียนดนตรี

 

ส่วนบรรยากาศในห้องเรียนที่ผู้เขียนได้สัมผัสนั้น เต็มไปด้วยความเงียบสงบ แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน โดยเฉพาะเด็กชายเข้ม ที่กระตือรือร้นในการเรียนอยู่ตลอดเวลาที่ครูสอน อีกทั้งยังช่วยเพื่อนๆ ในห้องเรียนให้สามารถทำกิจกรรมที่คุณครูบอกได้อีกด้วย

รวมถึงน้องโลตัสที่ตั้งใจเรียนและนิ่งได้มากขึ้น น้องโลตัสเป็นเด็กพิเศษ แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะสามารถเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียนเดียวกันได้อย่างสนุกสนาน ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ ก็เรียนด้วยความสนุกสนาน และตั้งใจฟังที่คุณครูสอนเป็นอย่างดีเช่นกัน ซึ่งเด็กๆ ต่างได้รับความรู้และความสุขไม่น้อยเลยทีเดียว

วันนี้ทำให้เราได้รู้และได้เข้าใจว่า “ไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ ที่เด็กจะไม่สามารถเรียนรู้ดนตรีได้ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมาจากไหน จะมีสภาพปัญหาร่างกายเป็นเช่นไร ขอเพียงแค่เด็กได้รับโอกาสในการเรียนรู้” เด็กๆ จะมองเห็นถึงศักยภาพและคุณค่าในตัวเอง เพราะดนตรีคือสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่สามารถสร้างเด็กให้พัฒนาและเติบโตไปได้ดัง “เมล็ดพันธุ์ที่สวยงาม”

เมื่อเราได้เห็นรอยยิ้มและความสุขของเด็กๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และได้รับความอบอุ่นที่ผู้ใหญ่มอบให้ เราก็ยิ่งมีความสุขเช่นกัน เพราะดนตรีสร้างโลกที่สวยงามให้กับเด็กๆ ได้เสมอ รวมถึงโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน

 

ท่านสามารถร่วมสนับสนุนกิจกรรม เด็กๆโครงการบ้านทานตะวัน ผ่านบัญชี ธนาคาร บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี : มูลนิธิเด็ก
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 308-1-13382-8 เพื่อเด็กบ้านทานตะวัน



กรุณาแจ้งโอนเงินได้ที่ Line Id : btw1979 / btw2521
บันทึกช่วยจำ : บ้านทานตะวัน ( รบกวนแจ้งโอนเงินทุกครั้งแม้ไม่ใช้ใบเสร็จ )
*** ใบเสร็จหักลดหย่อนภาษีได้ค่ะ***
ติดต่อสอบถาม 095-8733040 กอล์ฟ / 092-9065777 บ้านทานตะวัน / 0639525111 ยุ้ย



 ร่วมสนับสนุนเป็นสิ่งของที่บ้านทานตะวัน ต้องการเร่งด่วน ส่งมาได้ที่
มูลนิธิเด็ก (โครงการบ้านทานตะวัน)
95/24 หมู่ 6 ซ.กระทุ่มล้ม 18 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้