643 จำนวนผู้เข้าชม |
เขียน : เทพศิริ สุขโสภา
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
พิมพ์ครั้งที่ ๘
ราคาเล่มละ ๒๔๐ บาท (จากราคา ๔๐๐ บาท)
บึงหญ้า ป่าใหญ่ หนังสือดีมากๆ เล่มหนึ่ง ของนักเขียนที่ชื่อ เทพศิริ สุขโสภา
เพียงแค่เปิดอ่านในบทแรกๆ ที่เล่าวิถีชุมชนที่อยู่เหมือนเป็นชนบท อยู่กับป่าเขา อยู่กับหญ้าอยู่กับธรรมชาติ มีการเลี้ยงวัว ควาย มีสายน้ำลำธาร มีแมลงปอ มีความไม่สมบูรณ์ของอะไรบางอย่าง เช่น การส่งลูกเข้าเรียนช้ำ การที่เด็กเรียนซ้ำชั้น การที่เด็กไม่มีชุดนักเรียนที่เพียบพร้อมใส่ได้อย่างสมบูรณ์ บางรายถอดเสื้อมาโรงเรียน แต่ทุกคนในชุมชนที่รู้จักกันต่างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เริ่มต้นโดยไม่มีกฎเกณฑ์ของระเบียบวินัยที่เคร่งครัด ไม่มีก็คือไม่มี มีก็แลกเปลี่ยนกันไป ใครสอบเลื่อนชั้นผ่านแล้วมีหนังสือที่ไม่ใช้แล้ว ก็จะมีการยกหนังสือเก่าให้คนรุ่นหลัง มีความเป็นอยู่แบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน เราจะไม่เห็นวิถีชีวิตการแข่งขันอย่างบ้าคลั่งเหมือนสังคมเมืองปัจจุบัน เราจะเห็นกลิ่นอายความเป็นมิตรไมตรีในชุมชนขนาดเล็ก ไม่ถือตัวต่อกันและกัน รวมไปถึงหากมีการทะเลาะถกเถียงกันของผู้ใหญ่ที่ปกครองดูแลบุตรหลานก็ยังอยู่ในความมีเหตุผล ความมีเมตตาต่อกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
เช่นในกรณีพ่อแม่บางคนที่ส่งลูกมาเรียนแล้วมีปัญหายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จนมีเรื่องกับคุณครูในเรื่องของการถามเหตุผลว่าทำไมลูกถึงมีพัฒนาการช้ากว่าคนอื่น ครูได้ชี้แจงพฤติกรรมของเด็กบางคนว่าเป็นเช่นใด ซึ่งผู้ปกครองก็ยอมรับในสิทธินั้นเพราะเป็นเช่นนั้นจริง รวมไปถึงพื้นฐานของครูที่เป็นแบบอย่างการสอนระดับพื้นฐานของมารยาทการพูดคำหยาบ ค่อยๆ สอนเติมแต่งความรู้ให้เด็กอย่างใจเย็น ไม่มีการตำหนิต่อว่าเด็ก ผ่านตัวละครที่ชื่อโรย เป็นบทสนทนาที่น่ารัก การตัดสินในวีรกรรมแสบซนต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้เด็กอธิบายก่อนตัดสินว่าจะลงโทษแบบไหนและวิธีใด ซึ่งเป็นพื้นฐานการปลูกฝังให้เด็กมีความกล้าอธิบาย กล้าชี้แจง และเป็นธรรมชาติตามวัย รวมไปถึงการจัดการกับเด็กที่ขี้ขโมย โดยคุณครูรู้เท่าทันจิตใต้สำนึกของเด็กที่ไม่กล้าสารภาพผิดเพราะกลัวโดนตี จึงมีการบอกว่าให้สารภาพเพื่อจะไม่ตีเป็นต้น การเล่าเรื่องผ่านตัวละครเด็ก เป็นพื้นฐานการปลูกฝังจิตใจให้เด็กมีความกล้ารับผิด รู้จักถูกผิดโดยธรรมชาติ รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ โดยที่ไม่ต้องไม่ต้องเกรงกลัวต่อการถูกลงโทษจนทำให้เกิดพฤติกรรมการพูดโกหกที่อาจจะเป็นผลร้ายในลำดับต่อไป
การอบรมเด็กๆ ผ่านครูจันทร์ ครูสำเภาได้ดำเนินเรื่องอย่างน่ารัก ผ่านตัวละครมีตัวละครเด่นของเด็กอีกคนคือโทน เปิดเรื่องที่ดูเป็นเด็กที่เริ่มเรื่องเหมือนจะเป็นตัวแสบที่สุด ที่น่าจะไม่มีเพื่อนคบหา แต่โทนก็มีลักษณะความคิดอะไรบางอย่างที่พาให้คนอ่านได้ยิ้มไปกับเรื่องราวของวิถีชีวิตที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ความแสบซนต่างๆ คล้ายกับเป็นหัวโจกที่พาเราไปเห็นวิถีเรียบง่าย เข้าใจมุมมองของเด็ก การปลูกฝังวิถีชีวิตของการได้ปฏิบัติจริงตามธรรมชาติ ผ่านบ้านต่างๆ เช่น การเคี่ยวน้ำอ้อย การหุงข้าวด้วยถ่าน การเสนอมุมมองของไฟ การอ่านหนังสือเวลาไหน วิถีชีวิตที่สอนสภาพแวดล้อมผ่านการดักปลา เก็บเห็ด ดักนก อยู่กับธรรมชาติ ได้คลุกคลีกับของจริง ซึ่งมีความแตกต่างกับการปลูกฝังการเรียนรู้ที่เป็นปัจจุบันที่มุ่งเน้นแต่การเข้าใจในหนังสือ ห้องเรียน และการสำเร็จการศึกษาผ่านใบปริญญา
หนังสือเล่มนี้ นับว่าเป็นเรื่องราวที่จะดึงให้ผู้อ่านไปอีกมิติหนึ่งของชีวิต ที่เราอาจจะหลงลืมความสุขง่ายๆ กับธรรมชาติ ความเรียบง่ายที่ไม่ต้องมีความสมบูรณ์แบบ กฎเกณฑ์ครอบงำวิถีชีวิตที่ชวนให้เราต้องวิ่งตามจนเกิดความเครียดมากมาย ได้กลับมาสู่ความเข้าใจที่เรียบง่ายอีกครั้ง อ่านแล้วยิ้มไปกับเรื่องราวของเด็กความเรียบง่ายที่เราต่างหลงลืม เป็นความเรียบง่ายของการเล่าวิถีที่ให้เห็นภาพและสมควรต่อการยกย่องให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องอ่าน ต้องรู้ในหนังสือเล่มนี้
แนะนำโดย
ณครัส ก้องสุธิตธารา
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก (สรรพสาส์น)
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕