1757 จำนวนผู้เข้าชม |
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราสนิทสนมกับการศึกษาฟินแลนด์จนแทบไม่ต้องตั้งคำถาม หากประเทศที่พรมแดนติดกันอย่างนอร์เวย์ ที่บรรจุวิชา ‘เดินป่า’ เป็นคาบประจำทุกสัปดาห์ ห้องเรียนและหลักสูตรกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
หนนี้ ครูไทยคนหนึ่งซึ่งไปเป็นครูที่นอร์เวย์มา 7 ปี บินกลับมาเมืองไทยพอดี The Potential จึงชวนมาเปิดห้องเรียนนอร์เวย์ให้ได้รู้จักกันทุกซอกทุกมุม
ภาษีที่คนนอร์เวย์เสียในสัดส่วนถึง 22 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างการศึกษาแบบนี้…
จากสุรินทร์บินไปนอร์เวย์
7 ปีที่แล้ว ปอนด์ พรรณวิภา (โพธิ์งาม) โซลเบิร์ก แต่งงานกับสามีชาวนอร์เวย์แล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองชื่อโซลเบิร์กเอลวา (Solbergelva) จังหวัดบุสเกอรุส ด้วยความที่เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษชั้นประถม-มัธยม หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี ศศ.บ. (ศิลปศาสตรบัณฑิต) สาขาภาษาอังกฤษ บวกกับความรักเด็กและอยากสอนเป็นทุนเดิม ครูไทยจึงได้มาเป็นครูที่นอร์เวย์อีกครั้ง
ต่างกันนิดเดียวตรงที่ไม่มีคำว่า ‘ครู’ นำหน้า
“จะไม่เรียกว่าครูปอนด์ เด็กๆ จะเรียกชื่อจริงเลย ที่นั่นเราจะมีชื่อเดียว เพราะเด็ก-ผู้ใหญ่เสมอภาคกันหมด แต่แน่นอนว่าเด็กก็ต้องฟังผู้ใหญ่”
ปอนด์-พรรณวิภา (โพธิ์งาม) โซลเบิร์ก
ปีแรก คุณปอนด์เริ่มต้นด้วยการเรียนภาษานอร์วีเจียนประมาณ 9 เดือน ต่อด้วยการไปฝึกภาษาที่ศูนย์เด็กเล็กซึ่งคล้ายๆ กับโรงเรียนอนุบาลบ้านเรา แต่บ้านเขาจะใช้คำว่า ‘โรงเรียน’ กับชั้น ป.1 ขึ้นไปเท่านั้น
และได้เริ่มทำงานเป็นครูผู้ช่วยหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยขั้นของเงินเดือนคือในตำแหน่งผู้ที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
“คนที่แต่งงานไปอยู่นอร์เวย์ รัฐบาลมีโควตาให้เรียนภาษาฟรีมากถึง 5 ปี โดยนับตั้งแต่วันแรกของการเริ่มมาเรียน เหมือนกึ่งบังคับเพราะเราต้องขอวีซ่าถาวร ระหว่างเรียนภาษาก็ทำงานศูนย์เด็กเล็ก สะสมชั่วโมงการทำงานไปเรื่อยๆ ยังไม่ได้ทำประจำเพราะไม่มีประสบการณ์ ภาษายังไม่ถึงขั้น และที่สำคัญยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ”
คุณปอนด์เลยไปเรียนนอกเวลาของมหาวิทยาลัยเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพที่เรียกว่า ประกาศนียบัตรวิชาชีพในการดูแลเด็กและเยาวชน (Barne og ungdomsarbeider) พอสอบผ่านก็ต้องทำงานนับชั่วโมงไปอีก 2 ปี เพื่อรอสอบภาคปฏิบัติ เพราะตามหลักสูตรคือผู้ที่จะสอบปฏิบัติได้ต้องทำงานมาแล้วเป็นเวลา 8,700 ชั่วโมง
“เพิ่งได้สอบปฏิบัติปีนี้ ผ่านและได้ใบประกอบวิชาชีพแล้วค่ะ (ยิ้ม)” คุณปอนด์จึงได้เป็นครูผู้ช่วยปฐมวัยเต็มตัว ที่ศูนย์เด็กเล็ก Bacheparken Barnehage เขตเทศบาลดรัมเมน
ศูนย์เด็กเล็กในความหมายของการศึกษานอร์เวย์ คือ เนิร์สเซอรีรวมกับอนุบาล ดูแลเด็กตั้งแต่ 0-6 ปี ส่วนโรงเรียนมีไว้สำหรับเด็ก 6 ปีขึ้นไป
“ศูนย์เด็กเล็กฯ ที่ปอนด์อยู่ แบ่งเป็น 2 แผนก คือ เด็กเล็ก (0-3 ปี) และ เด็กโต (3-6 ปี) ปอนด์จะดูแลเด็กโต”
ตำแหน่งปัจจุบันของคุณปอนด์คือ ‘ครูผู้ช่วยปฐมวัย’ ซึ่งแตกต่างจากครูหัวหน้าแผนกที่รับผิดชอบเอกสารและแฟ้มประจำตัวเด็กเป็นงานหลัก ส่วนการดูแลเด็กส่วนใหญ่จะเป็นความรับผิดชอบของครูผู้ช่วย
โดยหลักการ งานของครูผู้ช่วย จะมีหน้าที่ดังนี้ (อ้างอิงจาก https://utdanning.no/yrker/beskrivelse/barne-_og_ungdomsarbeider)
ช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาทางสังคมผ่านการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ ส่วนร่วมชุมชน การเล่น การสำรวจ และการเรียนรู้
ชี้แนะเด็กๆ ให้รู้จักรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
วางแผนและดำเนินกิจกรรม
เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กๆ
ครูผู้ช่วยต้องทำงานร่วมกับกลุ่มและบุคคลที่มีภูมิหลังแตกต่างกันและเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตที่ต่างกัน
ในการวางแผนการดำเนินงานและการประเมินผลของกิจกรรมให้เด็ก ขึ้นอยู่กับระดับพัฒนาการและสถานการณ์ในชีวิตของเด็ก เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของแต่ละบุคคล
กิจกรรมอาจรวมถึงการเล่นละคร, วรรณกรรม, เพลงและดนตรี, การออกแบบและกิจกรรมกลางแจ้ง หรือกิจกรรมประจำวัน เช่นการทำอาหารและการแต่งกาย
ทางศูนย์เด็กเล็กให้ความสำคัญกับการปฏิบัติจริงทุกข้อ มีการติดตามผล การประเมินผลพัฒนาการเด็กเป็นรายบุคคลอย่างละเอียดผ่านการประชุมผู้ปกครองรายบุคคล การประชุมผู้ปกครองมีขึ้นประมาณ 2-3 ครั้งต่อปีการศึกษา ใช้เวลา 1-1.5 ชม./ครั้ง เด็ก 18 คน การประชุมจะเกิดขึ้น 18 ครั้ง
“ครูผู้ช่วยจะอยู่กับเด็กมากกว่า ถ้าอยากรู้ว่าเด็กคนนี้นิสัยอย่างไรต้องถาม ตอนนี้ปอนด์ดูแลเด็กทั้งหมด 18 คน ปอนด์จะรู้ข้อมูลหมด พ่อแม่ โรคประจำตัว กินอะไรไม่ได้ นิสัย ความชอบ ฯลฯ สัดส่วนครูต่อเด็ก (เล็ก) จะอยู่ที่ 3:18 คน ไม่นับรวมครูพิเศษเพราะเขาจะรับผิดชอบเด็กพิเศษตัวต่อตัว แต่เมืองไทยครูหนึ่งคนต่อเด็กเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แล้วอย่างนี้ครูจะแจกความรักอย่างไรให้ทั่วถึง”
เวลาอาหารเช้าและกลางวัน ครูจะนั่งกินร่วมโต๊ะกับเด็กๆ 5-6 คน ทบทวนและชวนคุยว่า วันนี้จะทำอะไร หรือพรุ่งนี้อยากทำอะไร คุณปอนด์เรียกชั่วโมงนี้ว่า ‘ชั่วโมงวิเศษ’
“นอกจากความใกล้ชิด ยังเป็นชั่วโมงฝึกกระตุ้นภาษาและการสื่อสารของเด็กๆ ไปในตัวค่ะ (ยิ้ม)”
ศูนย์เด็กเล็กที่คุณปอนด์ดูแลอยู่มีเด็กทั้งหมด 70 คน ครูไทยของเราจำชื่อเด็กได้หมดทุกคน
เริ่มต้นแค่หนังสือ 3 เล่ม
เพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพครู ไม่ว่าคนนอร์เวย์หรือชาวต่างชาติที่ต้องการสอบเป็นครูผู้ช่วยที่นอร์เวย์ มีหนังสืออยู่หลักๆ แค่ 3 เล่มที่ต้องอ่านเพราะถือเป็นคู่มือพื้นฐานสำคัญของครูผู้ช่วยทั่วประเทศ
“หนังสือมีแค่ 3 เล่มคือ สุขภาพอนามัย, การทำงาน (วางแผนการสอน)
และการสื่อสาร อ่าน ทำความเข้าใจ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเอง”
ทุกวัน คุณปอนด์และเพื่อนครูจะเริ่มต้นทำงานตั้งแต่เวลา 6.45 น. สำหรับกะเช้า จากการทำงานทั้งหมด 3 กะ คือ กะเช้า เวลา 6.45-14.15 น. กะกลางวัน เวลา 8.00-15.30 น. และ กะเย็น 9.30-17.00 น.
เริ่มต้นที่ครูกะเช้าจะไปเปิดประตูรับเด็กๆ เอาเก้าอี้ลง จัดโต๊ะ ต้มน้ำ เตรียมกาแฟ ส่วนครูกะกลางวันมาช่วยเด็กแต่งตัว ดูแลเด็กถัดจากนั้น ปิดท้ายด้วยการปิดประตูศูนย์เด็กเล็กของครูกะเย็น
“ทุกคนจะรู้หน้าที่ ไม่มีใครก้าวก่ายหน้าที่กัน แต่ถ้าอยากช่วยก็ยินดี”
7.5 ชั่วโมง (รวมเวลาพักแล้ว 30 นาที) คือเวลาทำงานของครูต่อ 1 วัน ห้ามเกินกว่านี้ ถ้ามีคือต้องจ่ายค่าล่วงเวลาหรือโอที ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการประชุมหลังกะเย็นหมดไป เพื่อแจ้งข้อมูลและยืนยันกำหนดการ เพื่อวางแผนการสอน ทั้งหมดก็เพื่อให้ครูเต็มที่กับเด็กๆ มากที่สุด
หน้าที่ครูคือไม่สอน
ถึงจะเรียนสัปดาห์ละ 5 วันจันทร์ถึงศุกร์ แต่จะไม่มีครูคนไหนบังคับว่าต้องมาทุกวัน เด็กๆ จะมาและกลับเวลาไหนก็ได้ เพียงแค่แจ้งล่วงหน้า
ในห้องจะไม่มีโต๊ะสำหรับนั่งเรียน ทุกๆ วันครูจะเริ่มต้นด้วยการถามเด็กๆ ว่าอยากทำอะไร
“อยากวาดรูป 4 คนก็วาดไป ส่วนใหญ่เราเน้นพัฒนาการด้านภาษาและการสร้างสังคม เรามีกฎที่รู้กันเองว่า เด็กทุกคนที่ออก (จบ) จากศูนย์เด็กเล็กไป จะต้องมีเพื่อนอย่างน้อย 1 คน ไม่ได้บังคับหรือยัดเยียดให้ต้องมี แต่เราจะคอยสังเกตเด็กทีละคนเลยว่า เขาอยู่คนเดียว เล่นคนเดียวหรือเปล่า ถ้าใช่ เพราะอะไร”
ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่ง นั่งซึม ไม่เล่นกับใคร ชอบอยู่คนเดียว ร้องไห้ หลายครั้งอารมณ์ร้าย นอกจากสังเกต ครูต้องหาสาเหตุเพื่อช่วยเด็กคนนั้น
“หน้าที่ของครูคือสังเกต ติดตาม หาทางแก้ และรายงานผล ตามขั้นตอน หลายครั้งเกิดจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว รัฐโดยสำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนของประเทศนอร์เวย์ มีอำนาจในการแยกลูกออกจากพ่อแม่ แล้วพาไปไว้ที่สถานดูแลบ้านพักฉุกเฉิน แต่กว่าที่จะถึงกระบวนการนี้ รัฐจะส่งนักจิตวิทยามาพูดคุยและแนะนำพ่อแม่ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่คือตำรวจนอกเครื่องแบบและนักจิตวิทยา คอยติดตามผลและเฝ้าระวังเด็กอย่างน้อยอาทิตย์ละ 37.5 ชั่วโมง เพื่อประเมินว่าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแล้วหรือยัง”
ถ้าไม่ รัฐก็จะแยกเด็กไปยังสถานดูแลบ้านพักฉุกเฉิน และพ่อแม่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับลูก จนกว่าจะปรับปรุงตัวตามกระบวนการ
“สุดท้ายแล้ว ไม่สามารถปรับปรุงตัวได้จริงๆ รัฐก็จะประกาศรับสมัคร Host Family หรือพ่อแม่บุญธรรม เพื่อรับเด็กคนนี้ไปเลี้ยงดูต่อ”
พาเข้าป่า ไม่พาทำการบ้าน
แน่นอน เมื่อไม่มีโต๊ะเรียน จึงไม่มีการบ้าน ทั้งนี้หลักสูตรจะวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี แยกย่อยว่าแต่ละเดือนจะเรียนรู้เรื่องอะไร
เมื่อร่มใหญ่ชัดแล้วว่าจะเรียนเรื่องอะไร ก็ค่อยลงรายละเอียดระดับวัน ยกตัวอย่าง ตารางคร่าวๆ ของศูนย์เด็กเล็กที่คุณปอนด์ดูแล มีดังนี้
วันจันทร์ – เดินป่า เล่น
วันอังคาร – กิจกรรมในแผนก เล่น
วันพุธ – กิจกรรมแบ่งช่วงอายุ เล่น
วันพฤหัส – กิจกรรมเน้นภาษา เล่นเป็นกลุ่ม
วันศุกร์ – ออกนอกห้องให้เด็กทุกชั้นเล่นด้วยกัน
ทุกๆ วันเด็กจะออกมาเล่นนอกห้องเรียนไม่ว่าอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการปลดปล่อยพลัง ได้วิ่ง ปีนป่าย เต็มที่ บางวันอากาศดีจะอยู่นอกห้องทั้งวัน ครูจะยืนกระจายกันตามจุดต่างๆ และเล่นกับเด็กพร้อมสอดแทรกการสอนผ่านการเล่นของเด็ก โดยโฟกัสตามหัวข้อของเดือนนั้นๆ
โดยเฉพาะวันเดินป่า จะเป็นคาบวิชาวิทยาศาสตร์อยู่กลายๆ
“เช่น อะไรเกิดขึ้นในป่า พืชอะไรเกิดขึ้นเอง ทำไมหินมีน้ำเซาะลงมา น้ำตกมาได้อย่างไร ทำไมนกนอนตาย ฯลฯ เป็นความรู้จากการตั้งคำถามที่เขาเจอระหว่างทาง” ครูมีหน้าที่ชักนำหรือสร้างสิ่งแวดล้อม แรงจูงใจให้เด็กสงสัย ตั้งคำถาม เราจะไม่บอกว่าอันไหนผิดอันไหนถูก แต่จะบอกว่า แล้วหนูคิดว่ายังไง แล้วสะท้อนความคิดเด็กออกมา เป็นการกระตุ้น 1.การใช้ภาษา 2.ความคิดสร้างสรรค์ และ 3.ความกล้า”
พ่อแม่ถึงไม่ได้ไปเดินป่าด้วย ก็ต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้เช่นเดียวกัน เพราะการเดินป่า จะเริ่มตั้งแต่การเตรียมตัว เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร
พ่อแม่ทุกคนจะรู้ตารางสอนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน จะช่วยเตรียมกระเป๋าสะพาย ในนั้นมีอาหาร น้ำ เบาะรองนั่ง และของใช้จำเป็นต่างๆ
“ถ้าเดินป่าหน้าหนาว เสื้อผ้าก็ต้องอุ่นที่สุด ทุกครั้งที่ออกนอกสถานที่จะต้องใส่เสื้อสะท้อนแสงด้วย จะได้มองเห็นชัดๆ รองเท้าแบบไหนไม่ลื่น” ระหว่างกิจกรรม เด็กๆ จะต้องจูงมือกัน ประกบด้วยผู้ใหญ่ 3 คน หนึ่งอยู่หน้า คนที่สองกลาง และคนที่สามปิดท้ายแถว ในสัดส่วนเด็ก 5-6 ต่อผู้ใหญ่ 1 คน
เพราะการที่พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม นั่นหมายถึง พ่อแม่และครูพูดภาษาเดียวกัน เห็นตรงกัน
“คุยกันที่บ้านอย่างไร ครูก็ต้องพูดที่โรงเรียนแบบนั้น เพื่อไม่ให้เด็กสับสนแล้วเกิดอาการต่อต้าน”
นอกจากวิชาวิทยาศาสตร์รายทางแล้ว การได้ออกไปข้างนอก คือ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
“ไม่ใช่แค่เอาเด็กไปปล่อย เวลาอยู่ข้างนอก เด็กๆ ไม่ได้แค่เล่นเพื่อตัวเอง เขาต้องปรับตัวเข้ากับสังคมข้างนอก เช่น ผู้ใหญ่แปลกหน้า ระวังการจราจร เขาจะรู้ว่าทำไมไม่สามารถไปยืนฉี่ตรงไหนก็ได้ แล้วเวลาหิวน้ำจะต้องไปตรงไหน เขาจะรู้จักดูแลตัวเองโดยอัตโนมัติ”
ชุมชนรอบข้างก็เช่นเดียวกัน จะรู้ว่าภายในรัศมีสถานศึกษาจะไม่ขับรถเร็ว ไม่ทำเสียงดัง
ใกล้ๆ กับศูนย์เด็กเล็กที่ปอนด์ทำงาน คือบ้านพักคนชรา หลายครั้งครูจะพาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมกับคุณตาคุณยายต่างสายเลือด
“นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์คนต่างรุ่นแล้ว สิ่งสำคัญคือให้เด็กๆ รู้ว่า ใครอยู่ตรงนี้บ้าง เขาจะได้รู้สึกปลอดภัย และถ้าเด็กรู้สึกปลอดภัย พัฒนาการจะเดินไปตามวัย ถ้าเด็กรู้สึกตรงกันข้าม ร่างกายจะไม่สร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมอง ซึ่งไปยับยั้งการเจริญเติบโตและพัฒนาการ”
สำหรับรัฐ สำคัญเท่ากับเด็ก คือครู
อัตราการเสียภาษีของพลเมืองนอร์เวย์ในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 22 ของรายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน ผู้ที่มีรายได้น้อยจะต้องเสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้สูง (อ้างอิงจาก www.skattetaten.no) และในตำแหน่งงานของคุณปอนด์จะเสียภาษีร้อยละ 34 ของรายได้
การศึกษาของชาวนอร์เวย์จึงถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่คุณภาพเท่าเทียมกันทั่วประเทศไปจนถึงอายุ 18 ปี ในแต่ละเทศบาลมีศูนย์เด็กเล็กกี่แห่งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กในพื้นที่นั้นๆ
“เฉพาะรัศมี 200 เมตรที่ปอนด์ทำงานมีศูนย์เด็กเล็ก 3 ศูนย์ด้วยกัน เช่น เราอยู่พญาไท เรา (ศูนย์เด็กเล็ก) ก็จะรับแต่เด็กพญาไท ไม่ได้รับเด็กราชเทวี ยกเว้นศูนย์ฯ ที่ราชเทวีเต็มก็จะดูอีกทีว่าพ่อแม่สามารถขับรถมาส่งได้ไหม”
การเดินทางมาโรงเรียนต้องราบรื่นมากที่สุด เพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่ชาวนอร์เวย์อยากมีลูก เพราะประชากรนอร์วีเจียนตอนนี้อยู่ที่ 6 ล้านคน และกำลังเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัย
“พ่อแม่รุ่นใหม่ ที่มีครอบครัว จะต้องดูแลตัวเองได้ และถ้ามีลูกก็ต้องมีคนที่ไว้ใจได้มาดูแลให้โดยไม่ต้องกังวล” นโยบายเพิ่มจำนวนประชากรทางอ้อม
คนที่ไว้ใจได้อย่างครู ก็ต้องได้รับสวัสดิการและการดูแลอย่างดีที่สุด
นอกจากชั่วโมงการทำงานต้องไม่เกิน 7.5 ชั่วโมงต่อวัน สภาพจิตใจครูก็สำคัญ ภายใต้หลักคิดว่า “ครูทุกคนต้องมีเวลาส่วนตัว”
“สอนเสร็จบางคนก็ไปออกกำลังกาย ถ้าเรามีปัญหาหรือไม่สบายใจ สามารถปรึกษาหัวหน้าครูหรือนักจิตวิทยาได้ ถ้าหากเรามีปัญหาในการทำงาน ที่นั่นจะไม่แก้ปัญหาด้วยการไล่ออกแต่จะมีการประเมินผลและคอยสอบถามครูอยู่เสมอว่า ‘คุณโอเคไหมช่วงนี้ มีปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า’ และครูสามารถลาพักร้อนเป็นเวลา 3-6 เดือนเพื่อจะไปทดลองงานใหม่ได้ เมื่อรู้ว่าเราไม่ชอบก็กลับมาเป็นครูเหมือนเดิมได้ เป็นการดูแลสุขภาพจิตของครูอย่างหนึ่ง”
ศูนย์เด็กเล็กแต่ละแห่งจะมีความคล่องตัวเพราะมีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องอยู่ในกรอบใหญ่ตามแบบแผนที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งทุกโรงเรียนต้องให้ความสำคัญ คือ สังคม ภาษา และพัฒนาการตามวัย
ไม่ใช่แค่พ่อแม่ ครู โรงเรียน หรือรัฐ เด็กคนหนึ่งจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ แข็งแรง และเอาตัวรอดได้ รถไฟขบวนนี้ก็ต้องวิ่งไปพร้อมๆ กันทั้งสังคม
“สื่อนอร์เวย์มักจะลงข่าว support เด็กในเชิงที่เป็นข่าวดี เช่น วันเกิด การคิดค้นนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ต่างจากประเทศไทยที่มักจะลงข่าวหรือนำเสนอข่าวเด็กในรูปแบบที่ไม่ค่อยดีนัก เช่น ตบตี หลายครั้งไม่คำนึงถึงถึงสิทธิเด็ก ไม่เบลอหน้า ซึ่งข่าวแบบนี้ไม่มีในนอร์เวย์”
นำมาสู่คำถามสุดท้ายและเป็นคำถามที่คุณปอนด์ต้องตอบเป็นประจำ คือ กลับมามองการศึกษาไทยแล้วคิดอย่างไรบ้าง
“เราไม่อยากเปรียบเทียบเพราะถ้าเปรียบเทียบก็จะมีเสียงบ่นมาว่า ใช่สิ ก็เพราะคุณมีโอกาสได้ไปเมืองนอกนี่ แต่ปอนด์มองว่าหลายๆ อย่างมันสามารถประยุกต์ใช้ เพียงแต่คุณจะทำมันไหม ตอนนี้ครูรุ่นใหม่มีเยอะขึ้นมาก คำถามคือผู้บริหารได้ซัพพอร์ตจุดนี้ไหม อีกอย่างคือการเปิดพื้นที่ให้ทั้งครูรุ่นใหม่และเด็กๆ ได้แสดงออกความคิดเห็น รับฟังว่าเด็กสมัยนี้เขาชอบ-ไม่ชอบอะไร ฟังคำตอบและเหตุผล หาสาเหตุให้ได้ ดังนั้นถ้าครูซัพพอร์ตความคิดของเด็ก และครูสะท้อนความคิดของกันและกัน มันน่าจะตอบโจทย์ได้”
วิชา 4 ฤดู
ฤดูหนาว: กิจกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวกับหิมะ พาเด็กเล่นสกีหรือสไลเดอร์ สอนวิทยาศาสตร์แทรกคำถาม เช่น ทำไมน้ำถึงกลายมาเป็นหิมะ รวมถึงการพาปั้นหิมะ เพราะนั่นคือการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การสอนเรื่องเครื่องแต่งกายหน้าหนาว ให้ร่างกายอุ่นและเดินไปไหนไม่ลื่น
“แต่ถ้าลื่นก็ปล่อยให้เขาลื่นแล้วสอนให้เขาระวัง กระตุ้นให้เขาสงสัยว่าพื้นลื่นแบบนี้เราจะเดินอย่างไร ใส่รองเท้าแบบไหนเดินบนน้ำแข็ง รองเท้าบางแล้วจะใส่ถุงเท้าแบบไหน”
ฤดูใบไม้ผลิ: ดอกไม้เริ่มผลิ ใบไม้เริ่มแตกใบ
“เราก็จะบอกว่าตอนหน้าหนาวดอกไม้เขาจะนอนหลับพอมาถึงสปริงเป็นช่วงเวลาที่ดอกไม้ตื่น เวลาเด็กๆ เดินป่าเห็นต้นไม้เริ่มมีดอกมีใบเราก็จะสอนเขาว่านี่เข้าหน้าสปริงแล้ว”
ฤดูร้อน: เป็นฤดูที่มีกิจกรรมเยอะมาก ทั้งการเดินป่า เล่นน้ำ หรือการพาเด็กๆ ออกนอกสถานที่ไปห้องสมุด ไปอ่านหนังสือ
“สอนเด็กๆ ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างในห้องสมุด โยนคำถามให้เขา เขาก็จะตอบมาว่าไม่พูดเสียงดัง ไม่ควรรบกวนคนอื่น ห้ามวิ่ง ฯลฯ เป็นการฝึกให้เขาคิดถึงผู้อื่น”
ฤดูใบไม้ร่วง: อากาศเริ่มเย็น วนกลับมาสอนเรื่องการเตรียมร่างกาย เสื้อผ้า
“ส่วนกิจกรรมจะพาเก็บใบไม้ เพราะใบไม้จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม มีความสวยงาม เราก็สอนเด็กๆ ต่อว่าทำไมใบไม้ถึงเปลี่ยนสี เน้นการสอนเรื่องธรรมชาติ ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างทั้งสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต”
เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ: เฉลิมพล ปัญณานวาสกุล / Fanpage: Bacheparken Barnehage
ที่มา :https://thepotential.org/2019/08/16/kindergarten-teacher-norway/